วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2550

คำถามสุนทรียศาสตร์

1. ถ้าคุณค่าหมายถึงคุณสมบัติ เช่น ของเหลว ร่วน แข็ง ก็ย่อมเป็นลักษณะของคุณค่าด้วย?
ตอบ หากเรากำหนดให้คุณค่าหมายถึง คุณสมบัติดังเช่นตัวอย่าง นั่นก็หมายความว่า คุณสมบัติก็เป็นลักษณะหรือเป็นส่วนประกอบของคุณค่าด้วยเช่นกัน แต่ความเหลว ความร่วน ความแข็ง เป็นสิ่งที่มนุษย์รับรู้ได้จากสิ่งเร้าหรือการรับสัมผัส ตัดสินว่ามันเป็นสิ่งที่เห็นจริง ๆ

2. ถ้าคุณค่าในตัวของมันเองเป็นคนละเรื่องของคุณสมบัติ คุณค่าควรจะอยู่ที่ใด ?
ตอบ อยู่ที่อารมณ์และความรู้สึกของแต่ละบุคคลแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าใครจะรู้สึกว่าอย่างไรกับสิ่งเร้า แล้วตัดสินใจว่า สิ่งนั้นมีคุณค่าในตัวมันเองหรือไม่
3. ถ้าคุณค่าของตัวมันเอง หมายถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อสิ่งอื่น
ตอบ ถ้าคุณค่าหมายถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อสิ่งอื่น นั้นคือ คุณค่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัตถุเพียงอย่างเดียวแต่คุณค่ามีความสัมพันธ์กับจิตใจ คือ ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นลอย ๆ แต่เมื่อสิ่งนั้นเอื้อประโยชน์กับสิ่งอื่น ๆ ก็แสดงว่า สิ่งนั้นมีคุณค่ามีอิทธิพลต่อสิ่งอื่น ๆ หรือมีอิทธิพลต่อสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะด้านบวกและด้านลบก็ตามแสดงว่าคุณค่ามีความสัมพันธภาพกับจิตใจ หรือเกิดจากจิตใจมนุษย์กับวัตถุด้วยเช่นใจ

4. ถ้าคุณค่าในตัวของมันเองหมายถึงการดำรงอยู่โดยไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งใด?
ตอบ ถ้าหากเงื่อนไขบกว่าคุณค่าในตัวของมันเองหมายถึง การดำรงอยู่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งใดหรือไม่มีผลต่อสิ่งใด ทั้งทางตรงและทางอ้อม คุณค่าในตัวของมันเองก็มีได้เพราะคุณค่าถูกกำหนดจากมนุษย์ขึ้นมาเท่านั้นเอง จะนำมาใช้หรือไม่นำมาใช้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ความมีคุณค่าก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม แต่คำกล่าวที่ว่าสรรพสิ่งใดในโลกจะอยู่ไม่ได้เลยถ้าไม่มีสัมพันธ์กับสิ่งใดนั้นเป็นการแสดงว่า จิตใจเรามีปฏิกริยากับสถานการณ์หรือวัถตุขณะนั้นแล้วเรานำความรู้สึกหรือการได้รับรู้อารมณ์มาปรุงแต่งทำให้เกิดเป็นสัมพันธภาพระหว่างกัน ก็เลยมองว่า ทุกสิ่งในโลกมีความสัมพันธ์ต่อกัน

5. การพิจารณาปัญหาคุณค่าแบบโดด ๆ โดยไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งใด?
ตอบ การพิจารณาปัญหาอื่น ๆ กับปัญหาคุณค่าเป็นเพียงการตัดสินในเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกนึกคิด ถ้าคิดว่าคุณค่ามีความสัมพันธ์กับสิ่งอื่น ๆ กับความหมายว่าปัญหาของมนุษย์มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมหรือสิ่งแวดล้อมมีผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ แต่จิตนิยมบอกว่าขึ้นอยู่กับจิตใจและความรู้สึกของคนที่ตัดสินซึ่งไม่เหมือนกันทุกคนบางคนอาจจะคิดว่าเป็นปัญหาของบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่บางคนอาจจะคิดว่าปัญหาเกิดขึ้นเพราะเป็นผลมาจากสิ่งแวดล้อมหรือบริบทของสิ่งนั้น

สรุป จากคำถามทั้งหมดไม่สามารถหาคำตอบได้ตายตัวแน่นอนขึ้นอยู่กับว่าเรากำหนดให้เงื่อนไขนั้นเป็นอย่างไรและมุมมองของแต่ละคนที่แตกต่างกันก็ทำให้ความคิดเห็นของแต่ละคนก็แตกต่างกันด้วย การตัดสินคุณค่าในสิ่งใดสิ่งหนึ่งจึงเป็นเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกของแต่ละคนวัตถุบางอย่างอาจมีคุณค่ามากสำหรับคนหนึ่งแต่อาจจะหาคุณค่าไม่ได้เลยสำหรับอีกคนหนึ่งก็ได้ คุณค่าของความงามจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจิตใจมนุษย์และความสัมพันธภาพกับวัตถุรับสัมผัส ในขณะนั้น

วันอังคารที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2550

สุนทรียศาสตร์

สุนทรียศาสตร์

1. สุนทรียศาสตร์(Aesthetics)คืออะไร ?
ความหมายของสุนทรียศาสตร์ ( Aesthetics ) สุนทรียศาสตร์ มีผู้ให้ความหมายของคำไว้หลายท่าน ดังตัวอย่างต่อไปนี้สุนทรียศาสตร์ เป็นปรัชญาสาขาหนึ่ง ที่ว่าด้วยความงามและสิ่งที่งามทั้งในงานศิลปะและในธรรมชาติ โดยศึกษาประสบการณ์ คุณค่าความงามและมาตรฐานในการวินิจฉัยว่า อะไรงาม อะไรไม่งาม (ราชบัณฑิตยสถาน,2532:4)สุนทรียศาสตร์ เป็นวิชาว่าด้วยสิ่งที่สวยงามหรือไพเราะ คำว่า Aesthetics มาจากภาษากรีกว่า Aisthetikos = รู้ได้ด้วยผัสสะ สุนทรียธาตุ (Aesthetics Elements) ซึ่งมีอยู่ 3 อย่างคือ ความงาม (Beauty) ความแปลกหูแปลกตา (Picturesqueness) และความน่าทึ่ง (Sublimity) (กีรติ บุญเจือ, 2522 : 263)

สุนทรียศาสตร์ เดิมเรียกว่า วิทยาศาสตร์ของเยอรมัน (The German Science) เนื่องจากตลอดระยะสองศตวรรษที่ผ่านมา เยอรมันมีผลงานทางด้านสุนทรียศาสตร์มากว่าผลงานของประเทศอื่น ๆ สามประเทศรวมกัน ผลงานด้านสุนทรียศาสตร์ของเยอรมัน มีทั้งความเรียง วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก วิทยานิพนธ์ปริญญาโท และความความที่เกี่ยวข้องมากมาย ปราชญ์ของประเทศอื่นไม่มีใครกล่าวถึงความงาม (Beauty) แต่ประการใด สุนทรียศาสตร์เริ่มมีความหมายแบบสมัยใหม่ในลักษณะเป็นสาขาของปรัชญา เริ่มจากเรื่อง The Aesthetica ของเบาว์มการ์เทน (Alexander Gottieb Baumgarten) ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1750 (Schiller, 1974 : 4-5) และซันตายานา (George Santayana) ก็ได้กล่าวไว้ว่าการที่สุนทรียศาสตร์ได้รับความสนใจน้อยไม่ใช่เพราะวิชาสุนทรียศาสตร์ไม่สำคัญ แต่เป็นเพราะมนุษย์ขาดแรงจูงใจที่จะค้นถึงความถูกต้อง ความจริง และใช้ความพยายามน้อยไปที่จะทำการศึกษา ความสำเร็จจึงน้อยไปด้วย (Santayana, 1896 : 6) กระนั้นก่อนหน้าที่ เบาว์มการ์เทน จะบัญญัติศัพท์คำว่า "สุนทรียศาสตร์" ขึ้นมาเป็นเวลา 2000 กว่าปี นักปราชญ์สมัยกรีก เช่น เพลโต อริสโตเติล กล่าวถึงแต่เรื่องความงาม ความสะเทือนใจ ซึ่งเป็นความรู้สึกทางการรับรู้ (Sense Perception) ของมนุษย์ ปัญหาที่พวกเขาโต้เถียงกันได้แก่ ความงามคืออะไร ค่าของความงามนั้นเป็นจริงมีอยู่โดยตัวของมันเองหรือไม่ หรือว่าค่าของความงามเป็นเพียงความข้อความที่เราใช้กับสิ่งที่เราชอบ ความงามกับสิ่งที่งามสัมพันธ์กันอย่างไร มีมาตรการตายตัวอะไรหรือไม่ที่ทำให้เราตัดสินใจได้ว่าสิ่งนั้นงามหรือไม่งาม เบาว์มการ์เทน มีความสนใจในปัญหาเรื่องของความงามนี้มาก เขาได้ลงมือค้นคว้ารวบรวมความรู้เกี่ยวกับความงามที่กระจัดกระจายอยู่มาไว้ในที่เดียวกัน เพื่อพัฒนาความรู้เกี่ยวกับความงามให้มีเนื้อหาสาระที่เข้มแข็งขึ้น แล้วตั้งชื่อวิชาเกี่ยวกับความงามหรือความรู้ที่เกี่ยวกับความรู้สึกทางการรับรู้ว่า Aesthetics โดยบัญญัติจากรากศัพท์ภาษากรีก Aisthetics หมายถึง ความรู้สึกทางการรับรู้ หรือการรับรู้ตามความรู้สึก (Sense perception) สำหรับศัพท์บัญญัติภาษาไทย ก็คือ "สุนทรียศาสตร์" จากนั้นวิชาสุนทรียศาสตร์ ก็ได้รับความสนใจเป็นวิชาที่มีหลักการเจริญก้าวหน้าขึ้น สามารถศึกษาได้ถึงระดับปริญญาเอก ด้วยเหตุผลนี้ เบาว์มการ์เทน จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งสุนทรียศาสตร์สมัยใหม่ฐานะที่เติมเชื้อไฟแห่งสุนทรียศาสตร์ที่กำลังจะมอดดับให้กลับลุกโชติช่วยขึ้นมาอีกวาระหนึ่ง (ทวีเกียรติ ไชยยงยศ. 2538 ; 1)

สุนทรียศาสตร์ (Aesthetics) เป็นเนื้อหาว่าด้วยการศึกษาเรื่องมาตรฐานของความงามในเชิงทฤษฎีอันเกี่ยวกับประสบการณ์ทางสุนทรียภาพ กฎเกณฑ์ทางศิลปะ สุนทรียศาสตร์นับว่าเป็นแขนงหนึ่งของปรัชญาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ การแสวงหาคุณค่า (Axiology) ในสมัยก่อนวิชานี้เป็นที่รู้จักกันในรูปของวิชา "ทฤษฎีแห่งความงาม(Theory of Beauty) หรือปรัชญาแห่งรสนิยม (Philosophy of taste)

สุนทรียศาสตร์ เป็นคำมาจากศัพท์ภาษาบาลีว่า"สุนทรียะ" แปลว่าดี งาม สุนทรียศาสตร์จึงมีความหมายตามรากศัพท์ว่าวิชาที่ว่าด้วยความงาม ในความหมายของคำเดียวกันนี้ นักปราชญ์ ชาวเยอรมันชื่อAisthetics Baumgarten (1718 - 1762) ได้เลือกคำในภาษากรีกมาใช้คำว่า Aisthetics ซึ่งหมายถึงการรับรู้ตามความรู้สึก (Sense Perception) เป็นวิชาเกี่ยวกับเรื่องทฤษฎีแห่งความงามตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Aesthetics ส่วนในภาษาไทยใช้คำว่าสุนทรียศาสตร์หรือวิชาศิลปะทั่วไป ดังนั้น จึงถือว่าศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของสุนทรียศาสตร์หรือเมื่อกล่าวถึงสุนทรียศาสตร์เมื่อใดก็มักจะเกี่ยวข้องกับงานศิลปะนั่นเอง


สรุป สุนทรียศาสตร์”
หมายถึง วิชาที่ว่าด้วยความงาม ซึ่งมีความหมายครอบคลุมถึง ความงามทั้งทางธรรมชาติ และความงามที่มนุษย์สร้างขึ้นเป็นงานศิลปกรรม ตลอดจนรวมถึง ความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกี่ยวของกับความรู้สึกทั้งสุข และทุกข์

2.สุนทรียศาสตร์มีประโยชน์อย่างไร ?
-ช่วยเสริมสร้างความเจริญทางปัญญาจนสามารถหยั่งเห็นสัจธรรมและคุณค่าของความงาม
-ช่วยเสริมสร้างความเจริญทางอารมณ์ โดยสามารถควบคุมอารมณ์ และการแสดงออกในทางที่ถูกต้อง และสามารถปรับตัวให้เข้าสังคมได้อย่างเป็นสุข
-ช่วยเสริมสร้างการรับรู้ให้เป็นไปในทางสร้างสรรค์จนเกิดคุณค่าทางด้านสุนทรียภาพ

3.สุนทรียศาสตร์มีประโยชน์ต่อวิชาชีพพยาบาลอย่างไร?
สุนทรียศาสตร์ มีประโยชน์อย่างมากในวิชาชีพพยาบาล เนื่องจาก การพยาบาลเป็นวิชาชีพที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนและความอดทนอย่างสูง ซึ่งจากประโยชน์ของสุนทรียศาสตร์ สามารถสร้างความเจริญทางอารมณ์ โดยสามารถควบคุมอารมณ์ และการแสดงออกในทางที่ถูกต้อง และสามารถปรับตัวให้เข้าสังคมได้อย่างเป็นสุขซึ่งจะเห็นได้ว่าศิลปะ และความสวยงาม จะช่วยเสริมสร้างอารมณ์ของผู้ที่รักชอบศิลปะ ในเป็นผู้ที่มีจิตใจและอารมณ์ร่าเริงอยู่เสมอ

วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2550

วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2550

จิตรกรรม

จิตรกรรม ...... เป็นงานศิลปะที่แสดงออกด้วยการวาด ระบายสี และการจัดองค์ประกอบความงามอื่น เพื่อให้เกิดภาพ 2มิติ ไม่มีความลึกหรือนูนหนา จิตรกรรมเป็นแขนงหนึ่งของทัศนศิลป์ ผู้ทำงานจิตรกรรม มักเรียกว่า จิตรกรรม
ภาพจิตรกรรมที่เก่าแก่ที่สุดที่เป็นที่รู้จักอยู่ที่ถ้ำ Chauvet ในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งนักประวัติศาสตร์บางคนอ้างว่ามีอายุราว 32,000 ปี เป็นภาพที่สลักและระบายสีด้วยโคลนแดงและสีย้อมดำ แสดงรูปม้า แรด สิงโต ควาย แมมมอธ หรือมนุษย์ ซึ่งมักจะกำลังล่าสัตว์ ภาพวาด ได้แก่ ภาพที่ได้มาจากการเขียน การวาด ซึ่งอาจจะเป็นการวาดจากจิตรกรหรือผู้เขียนภาพสมัครเล่นปัจจุบันได้มีการนำอุปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ใช้ในการเขียนภาพและวาดภาพ ที่ก้าวหน้าและทันสมัยมากมาใช้ ผู้เขียนภาพจึงจึงอาจจะใช้อุปกรณ์ต่างๆมาใช้ในการเขียนภาพ ภาพวาดในสื่อสิ่งพิมพ์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2ประเภท คือ ภาพวาดลายเส้นและการ์ตูน
ทัศนศิลป์ คือ กระบวนการถ่ายทอดผลงานทางศิลปะ การทำงานศิลปะอย่างมีจิตนาการความคิดสร้างสรรค์มีระบบระเบียบเป็นขั้นเป็นตอนการสร้างสรรค์งานอย่างมีประสิทธิภาพสวยงาม มีการปฏิบัติงานตามแผนและมีการพัฒนาผลงานให้ดีขึ้นต่อเนื่อง
ทัศนศิลป์ คือ การรับรู้ทางจักษุประสาท โดยการมองเห็น สสาร วัตถุ
และสรรพสิ่งต่างๆ ที่เข้ามากระทบ รวมถึงมนุษย์ และสัตว์ จะด้วยการหยุดนิ่งหรือ
เคลื่อนไหวก็ตาม หรือจะด้วยการปรุงแต่ง หรือไม่ปรุงแต่งก็ ตามก่อให้ เกิด ปัจจัยสมมุติต่อจิตใจและอารมณ์ของมนุษย์ อาจจะป็นไปในทางเดียวกันหรือไม่ก็ตามทัศนศิลป์เป็นการแปล ความหมายทางศิลปะที่แตกต่างกันไปแต่ละมุมมองของแต่ละบุคคล ในงานศิลปะชิ้นเดียวกัน ซึ่งไร้ขอบเขตทางจินตนาการ ไม่มีกรอบที่แน่นอน ขึ้นกับอารมณ์ของบุคคลในขณะทัศน์ศิลป์นั้นแนวคิดทัศนศิลป์เป็นศิลปะที่รับรู้ได้ด้วยการมอง ได้แก่รูปภาพวิวทิวทัศน์ทั่วไปเป็นสำคัญอันดับต้นๆ รูปภาพคนเหมือน ภาพล้อ ภาพสิ่งของต่างๆก็ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของทัศนศิลป์ด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งถ้ากล่าวว่าทัศนศิลป์เป็นความงามทางศิลปะที่ได้จากการมอง หรือ ทัศนา นั่นเอง

ภาพ :กษัตริย์สามัคคี
เราอาจแบ่งหมวดหมู่ทัศนศิลป์ได้ ดังนี้
-จิตรศิลป์ จะเน้นด้านความงามเป็นสำคัญ เช่น ภาพลายไทย ภาพตามผนังวัด หรือภาพพุทธศิลป์ต่างๆ
-ประยุกต์ศิลป์ ได้แก่ ศิลปะที่สามารถเข้าไปใช้สอยได้ เช่น สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม มัณฑณศิลป์ รวมทั้งเครื่องปั้นดินเผาที่ใช้เป็นภาชนะ
-พาณิชย์ศิลป์ ส่วนใหญ่เน้นในด้านเชิงธุรกิจการค้า ภาพโฆษณา บางครั้งจะไม่ตรงตามหลักการทางศิลปะตามที่ท่านอาจารย์ผู้รู้ด้านศิลปะได้สั่งสมบอกสอนกันมา

จิตรกรรมไทย Thai Painting

จิตรกรรมไทย (Thai Painting)
จิตรกรรมไทย หมายถึง ภาพเขียนที่มีลักษณะเป็นแบบอย่างของไทย ที่แตกต่าง จากศิลปะของชนชาติอื่นอย่างชัดเจน ถึงแม้จะมีอิทธิพลศิลปะของชาติอื่นอยู่บ้าง แต่ก็สามารถ ดัดแปลง คลี่คลาย ตัดทอน หรือเพิ่มเติมจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของ ตนเองได้อย่างสวยงาม ลงตัว น่าภาคภูมิใจและมีวิวัฒนาการทางด้านด้านรูปแบบ และวิธีการมาตลอดจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสามารถพัฒนาต่อไปอีกในอนาคต

ลายไทย เป็นส่วนประกอบของภาพเขียนไทยใช้ตกแต่งอาคาร สิ่งของ เครื่องใช้ ต่าง ๆ เครื่องประดับ ฯลฯ เป็นลวดลายที่มีชื่อเรียกต่าง ๆ กันซึ่งนำเอารูปร่างจาก ธรรมชาติมาประกอบ เช่น ลายกระหนก ลายกระจัง ลายเครือเถาเป็นต้น หรือเป็นรูปที่มาจากความเชื่อและคตินิยม เช่น รูปคน รูปเทวดา รูปสัตว์ รูปยักษ์ เป็นต้น
จิตรกรรมไทย เป็นวิจิตรศิลป์ อย่างหนึ่ง ซึ่งส่งผลสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมอันดี งามของชาติ มีคุณค่าทางศิลปะและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้า เรื่องที่เกี่ยวกับ ศาสนา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรมการแต่งกาย ตลอดจนการแสดงการเล่มพื้นเมืองต่าง ๆ ของแต่ละยุคสมัยและสาระอื่น ๆ ที่ประกอบกันเป็นภาพจิตรกรรมไทย งานจิตรกรรมให้ความรู้สึกในความงามอันบริสุทธิ์น่าชื่นชม เสริมสร้างสุนทรียภาพขึ้นในจิตใจมวลมนุษยชาติได้โดยทั่วไป

วิวัฒนาการของงานจิตรกรรมไทยแบ่งออกตามลักษณะรูปแบบทางศิลปกรรม ที่ปรากฏในปัจจุบันมีอยู่ 2 แบบ คือ

1.จิตรกรรมไทยแบบประเพณี (Thai Traditional Painting)เป็นศิลปะที่มีความประณีตสวยงาม แสดงความรู้สึกชีวิติจิตใจและความเป็นไทย ที่มีความอ่อนโยน ละมุนละไม สร้างสรรค์สืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนได้ลักษณะประจำชาติ มีลักษณะประจำชาติที่มีลักษณะ และรูปแบบเป็นพิเศษ นิยมเขียนบนฝาผนังภายในอาคารที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาและอาคารที่เกี่ยวกับบุคคลชั้นสูง เช่น โบสร์วิหาร วัง เป็นต้น บนผืนผ้า บนกระดาษ และบนสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ
2. จิตรกรรมไทยแบบร่วมสมัย(Thai Contempolary Painting)จิตรกรรมไทยร่วมสมัยเป็นผลมาจากความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการของโลก ความเจริญทางการศึกษา การคมนาคม การพาณิชย์ การปกครอง การรับรู้ข่าวสาร ความเป็นไปของโลกที่อยู่ห่างไกล ฯลฯ เหล่านี้ ล้วนมีผลต่อความรู้สึกนึกคิดและแนวทางการแสดงออกของศิลปินในยุคต่อๆ มาซึ่งได้พัฒนาไปตามสภาพเวดล้อม ความเปลี่ยนแปลงของชีวิต ความเป็นอยู่ ความรู้สึกนึกคิด และความนิยมในสังคม สะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์ใหม่ของวัฒนธรรมไทยอีกรูปแบบหนึ่ง อย่างมีคุณค่า เช่นดียวกัน อนึ่ง สำหรับลักษณะเกี่ยวกับจิตรกรรมไทยร่วมสมัยนั้น ส่วนใหญ่เป็นแนวทางเดียวกันกับลักษณะศิลปะแบบตะวันตกในลัทธิต่างๆ ตามความนิยมของศิลปินแต่ะละคน

ความสำคัญของจิตรกรรมไทย
จิตรกรรมไทยเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลแบบสหวิทยาการ ถือได้ว่าเป็นแหล่งขุม ความรู้โดยเฉพาะเรื่องราวจากอดีตที่สำคัญยิ่ง แสดงให้เห็นถึงความเป็นชนชาติที่มี อารยธรรมอันเก่าแก่ ยาวนาน ประโยชน์ของงานจิตรกรรมไทย
นอกจากจะให้ความ สำคัญในเรื่องคุณค่าของงานศิลปะแล้ว ยังมีคุณค่าในด้านอื่น ๆ อีกมาก ดังนี้
1. คุณค่าในทางประวัติศาสตร์
2. คุณค่าในทางศิลปะ
3. คุณค่าในเรื่องการแสดงเชื้อชาติ
4. คุณค่าในทางสถาปัตยกรรม
5. คุณค่าในเชิงสังคมวิทยา
6. คุณค่าในด้านโบราณคดี
7. คุณค่าในการศึกษาประเพณีและวัฒนธรรม
8. คุณค่าในการศึกษาเรื่องทัศนคติค่านิยม
9. คุณค่าในการศึกษานิเวศวิทยา
10.คุณค่าในการศึกษาเรื่องราวทางพุทธศาสนา
11.คุณค่าในทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยว